สวัสดีชาวโลกฮะ

ในครั้งนี้ จะขอเล่าเรื่องตัวเองสักหน่อยนะฮะ เพราะจะเปิดคาบวิชาจิตวิทยา 101

ตอนเด็กๆ ผมรู้ว่าตัวเอง “เตี้ย” ความสูงคืออันดับสุดท้ายของห้องแน่ะฮะ เวลาเข้าแถวเลยอยู่หน้าสุด เพราะเค้าเข้าแถวเรียงลำดับความสูง ตอนนั้นจำได้ว่า ไม่ชินและไม่คิดจะชินเอามากๆ อายน่ะฮะ คนแรกของแถวอ่ะ

แต่ตอนนั้น คือผมเรียนได้ที่หนึ่งแน่ะ “เก่ง” กว่าเพื่อนร่วมชั้น

โตขึ้นมาหน่อย ก็เริ่มมีปมด้อยเรื่องการใช้คำพูด พูดเร็ว พูดไม่รู้เรื่อง “เทียบกับคนอื่น” แล้ว ก็กลายเป็นคนที่… จะเรียกว่าไงดี เอาเป็นว่า เป็นคนที่ขาดทักษะการสื่อสารมากเลยล่ะฮะ (ทุกวันนี้ ก็คอยปรับปรุงอยู่นะฮะ)

แต่ก็แอบภูมิใจที่ตัวเองนั้น ยังเรียน “เก่ง” อยู่นะ แถมได้อยู่ชมรมวิจัยนั่นนี่ สร้างชื่อเสียงมาได้

เข้าสู่วัยทำงาน ก็พบว่าตัวเองมี “ข้อด้อย” เพียบไปหมดเลยอ่ะ ทั้ง “ไม่เก่ง” “ช้า” “ไม่เข้าใจลูกค้า” ลามไปจนเรื่องรูปร่างหน้าตาด้วยฮะ

กระนั้น ก็มีคำชมจากลูกค้ามาบ้าง เช่น “ทำงานดีนะ” “คุยสนุก” “ตอบคำถามชัดเจน”

พอย้อนกลับไปดูอดีตของตัวเองแล้วเนี่ย ผมเจอคำพูดมากมาย ทั้ง “ดี” “เก่ง” “ไม่ดี” “เตี้ย” “แย่” “ช้า” และอื่นๆ นับไม่ถ้วน

เยอะเลยนะฮะ คำพวกนั้นที่เป็นคำวิเศษณ์ ขยายความหมายของความเป็นคนของเรา ในแต่ละบทบาท เช่น เป็นนักเรียนเก่ง เป็นเด็กเรียนแย่ เป็นคนทำงานช้า และอีกล้านการขยาย ซึ่งพอเราลองมองให้ลึกไปอีกระดับนึง เราจะเห็นว่าคำวิเศษณ์ใช้ขยายความโดยเปรียบเทียบกับอีกสิ่งนึงเสมอนะ เช่น

  • เรียนเก่ง “เมื่อเทียบกับทั้งห้อง”
  • ทำงานช้า “เมื่อเทียบกับนางสาว กอไก่”
  • พูดดี “เมื่อเทียบกับเพื่อนอีกสองคนนี้”
  • และอื่นๆ

และหลายครั้งหลายคราว เราใช้คำวิเศษณ์พวกนั้นโดยไม่ได้พูดถึงว่าเราเทียบกับอะไร คนฟังก็จะเข้าใจและเทียบมันกับสิ่งที่คนฟังนึกถึงมากที่สุด ตามปูมหลังของเค้าเอง เช่น

  • เรียนแย่นะ ถ้าคนฟังคุ้นเคยแต่เด็กข้างบ้านที่โดนแม่ด่าเช้าเย็นเรื่องสอบตก เค้าอาจจะคิดว่าตัวเอง แย่ ถึงสอบไม่ตกก็เหมือนสอบตก
  • ไม่สวยเลย คนฟังอาจจะนึกหน้าตาของคนรู้จักที่เป็นคนสวย มีคนมาจีบมากมาย แล้วเข้าใจว่าตัวเองไม่สวย ทำให้มีปมด้านความรักก็ได้
  • โง่ คำนี้แรงมากฮะ เขาอาจจะนึกภาพคนที่ทำอะไรก็ไม่ได้เรื่อง โดนด่าโดนว่าตลอด ทำให้หมดกำลังใจจะทำอะไรให้ดีขึ้น เพราะคิดว่าคนไม่ฉลาดทำอะไรไม่ได้เลย

คำพูดพวกนั้นมันคือการตีตรา (Labeling) ว่า คนฟังเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปัญหาที่ตามมาคือ การเข้าใจ นึกภาพ และเปรียบเทียบของการ “เป็น” ของตัวเอง ซึ่งมันอาจจะร้ายแรงกว่าที่เป็นจริงฮะ

ทั้งนี้ ผมพูดรวมถึงคำพูดเชิงบวกด้วยนะ ไม่ว่าจะ “เรียนเก่ง” “ทำงานดี” “หัวไว” และอีกนานาคำ

ปัญหาที่ในสังคมตอนนี้เจออยู่คือ การตีตราคนหนึ่งคนด้วยคำวิเศษณ์ที่ทำให้คนฟังรู้สึกไม่ดี เป็นความหมายแง่ลบ และกลายเป็นคำพูดแสดงความเกลียดชังกัน (Hate speech)

มันบั่นทอนจิตใจทั้งเจ้าตัวที่ถูกพูดถึง และคนฟังที่เป็นบุคคลที่สามฮะ

แต่ถ้าเราเลี่ยง ไม่ใช้คำวิเศษณ์มาตีตรา แต่อธิบายด้วยคำเชิงปริมาณว่า “เรียนได้เกรด 3.00” “ทำงานไม่เสร็จไปสองชิ้น” “พูดผิดพลาดไปหนึ่งประเด็น” แล้วค่อยมาเสริมต่อว่า จุดไหนที่สามารถแก้ไขได้ มันก็น่าจะทำให้คนฟังยอมรับและเข้าใจในความหมายและบริบทเดียวกันกับที่คนพูดคิดอยู่ฮะ เพราะมันคือข้อเท็จจริง มันคือความเป็นจริงที่วัดผลได้ และตรงไปตรงมา

การสื่อสารที่พูดถึง fact สามารถเลี่ยงผลกระทบจากการเข้าใจไปคนละทาง หรือการเปรียบเทียบของคนฟังได้มากเลยล่ะฮะ เพราะมันชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว แบบนี้จะลดความบาดหมาง เกลียดชังของผู้ฟังได้ดีเลยฮะ และยิ่งผู้ฟังที่ค่อนข้างมีความรู้สึกไวต่อคำพูดคน จะยิ่งมีผลมากนะฮะ เพราะเขามีโอกาสมากเลยที่จะเก็บเอาไปคิด และเสียความมั่นใจในตัวเค้าเอง จนกลายเป็นคนอมทุกข์ไปเลย

สุดท้ายแล้ว ผมมองว่า ถ้าเราอยู่ในตำแหน่งผู้พูด ลองแทนที่คำวิเศษณ์เหล่านั้น ที่อาจจะสร้างความทุกข์ให้คนฟัง ด้วยข้อเท็จจริง เพื่อให้การสื่อสารมันเกิดผลตรงตามเจตนาที่ดีของเรา ไม่ใช่ด้วยภาพพจน์เหล่านั้นฮะ

กลับกัน ถ้าเราอยู่ในฐานะผู้ฟัง ถ้าเจอคำวิเศษณ์ที่ทำร้ายเรา คงต้องรับมือด้วยการปล่อยวาง และรับเฉพาะประเด็นที่มีประโยชน์จากการสื่อสารนั้นมาใช้ฮะ